ประเพณีท้องถิ่นล้านนา

ประเพณีตานต๊อด

  

      
       คำว่า “ตาน” มาจากคำว่า ทาน หรือการให้ทาน ส่วนคำว่า “ตอด” หรือ "ต๊อด" เป็นภาษาถิ่นล้านนา หรือออกเสียงภาษากลางว่า ทอด คือการเอาของไปวางไว้ วางทอดไว้

     “ตานตอด” เป็นประเพณีที่งดงามแสดงถึงความมีน้ำใจไมตรี ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันในสังคมชนบท  ส่วนใหญ่จะทำกันในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการเก็บเกี่ยวและผู้คนในชนบทจะมีเวลาว่างจากการทำไร่ไถนา  การตานตอดนี้คนในชุมชนจะรวมตัวกันเพื่อพิจารณาว่าคนในหมู่บ้านหรือในชุมชนที่มีความขัดสน มีความยากไร้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้  โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มี ลูกหลานคอยดูแล  หลังจากนั้นคนในชุมชนจะร่วมบริจาคทรัพย์ ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรคต่างๆ ตามแต่กำลังของแต่ละคนที่พอจะช่วยกันได้ เมื่อได้รับข้าวของเครื่องใช้แล้วก็กำหนดวันที่ จะทำการตานตอด  โดยจะเริ่มในเวลากลางคืนและเป็นเวลาที่ผู้คนเข้านอนกันแล้ว ชาวบ้านจะนัดชุมนุมกัน ที่วัดโดยไม่ให้ผู้จะรับการตานตอดรู้ล่วงหน้า เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันนำสิ่งของเครื่องใช้ เหล่านั้น  ไปยังบ้านผู้ที่ชาวบ้านจะมอบให้ด้วยความสงบ  ทุกคนจะเดินตามกันไปอย่างเงียบๆ โดยมีผู้นำหมู่บ้านหรือผู้อาวุโสของชุมชนเป็นผู้นำขบวน  เมื่อไปถึงยังบ้านนั้นแล้วทุกคนจะนำข้าวของไปวางไว้ที่ หน้าบ้านอย่างเงียบๆ  จากนั้นทุกคนจะพากันไปแอบอยู่ตามพุ่มไม้บ้าง ตามแนวรั้วบ้านบ้างเพื่อไม่ให้เจ้าของบ้าน หรือผู้ที่รับทานเห็น  หลังจากนั้นก็จะทำการจุดประทัดแล้วโยนเข้าไปใต้ถุนบ้านบ้าง  เอาก้อนหินปาที่ข้างฝาบ้าน บ้างเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านนั้นตกใจตื่น  เท่านั้นเองผู้เขียนเห็นแสงตะเกียงในบ้านผู้เฒ่าผู้แก่นั้นถูกจุดขึ้น  พร้อมกับเสียงตะโกนด่าของแม่เฒ่าคนหนึ่ง  พร้อมทั้งเปิดประตูบ้านออกมาดูพอเปิดประตูออกมาเท่านั้นเอง สิ่งที่เห็นคือข้าวของเครื่องใช้และเครื่องดำรงชีพอีกมากมายกองอยู่ สิ้นสุดจากเสียงตะโกนด่าสิ่งที่พร่างพลู ออกมาคือรอยยิ้มของแม่เฒ่ากับสายน้ำตาแห่งความตื้นตันใจ  ผู้เขียนเองถึงแม้จะยังเล็กแต่ก็ยังจำความได้ดี  และมีน้ำตาซึมออกมาเช่นเดียวกับแม่เฒ่านั้น  เมื่อเหลือบไปมองคนรอบๆ ข้าง ความรู้สึกของทุกคนที่อยู่ที่นั่น ขณะนั้นก็ไม่ต่างไปจากผู้เขียนเท่าใดนัก  เสียงตะโกนด่าจากแม่เฒ่าเปลี่ยนเป็นคำว่า “สาตุ๊” ภาษากลางออกเสียงว่า “สาธุ”  พร้อมกับให้พรเป็นภาษาเหนือ  เมื่อพรของแม่เฒ่าจบลง ก็มีเสียงดังกระหึ่มออกมาจากท่ามกลางความมืดพร้อมๆ กันว่า สาตุ๊  สาตุ๊  สาตุ๊ 

      คำว่า “ตาน” หรือ “ทาน” นี้หมายถึงการให้หรือการสละข้าวของอันเป็นของตนเพื่อเผื่อแผ่และเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานนั้นถือเป็นพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ  โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน  เรารู้จักการให้ทานมาตั้งแต่เกิดโดยที่เราไม่รู้ตัว  เมื่อยามเยาว์เราได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักแบ่งปันอาหารและข้าวของต่างๆ ให้เพื่อนที่โรงเรียน  นั่นก็คือ การให้ทาน ครู-อาจารย์ที่ให้การอบรมสั่งสอนลูกศิษย์   พระสงฆ์องค์เจ้าที่คอยเทศนาธรรมโปรดบุคคลทั่วไป ก็ถือเป็นการให้ทาน  ทานที่ว่าก็คือวิทยาทานหรือความรู้ต่างๆ  พ่อแม่ดูแลลูกให้เสื้อผ้าอาหาร บุตรเลี้ยงดูบุพการี เหล่านี้ก้อคือการให้ทานทั้งสิ้น  ดังนั้นคำว่า “ตาน” หรือ “ทาน”

     ในหลักพระพุทธศาสนาจึงมีอยู่หลายประเภทกล่าว คือ
๑. อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน
๒. ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือ การให้ความรู้เป็นทาน
๓. อภัยทาน คือ การสละอารมณ์โกรธ การให้อภัยและการไม่จองเวรซึ่งกันและกัน
จุดมุ่งหมายของการให้ทาน
๑. ให้เพื่อทำคุณ ให้เพื่อยึดเหนี่ยวใจเพื่อให้เกิดความรักความนิยมชมชอบแก่ผู้ให้
๒. ให้เพื่อนุเคราะห์ เป็นการให้เพื่อค้ำจุน เผื่อแผ่แก่บุคคลอื่นให้มีความสุข
๓. ให้เพื่อบูชาคุณเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณต่อผู้ให้การอุปการะและได้ช่วยเหลือ
เกื้อกูลเรามา  เป็นเครื่องหมายแห่งความกตัญญูกตเวทิตา


พิธีกรรมตานต๊อด
      พิธีการทำบุญ “ตานต๊อด”หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตานต๊อดผ้าป่า”  เป็นการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์กันเองของชาวบ้าน เรียกว่า ทานมัย  ถือเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ และชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากทำให้ผู้ที่ได้รับตกใจมากเท่าใด ก็ยิ่งได้บุญกุศลมาก และในแต่ละปีจะทำวันใดก็ได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน หรือพระสงฆ์ก็ได้  ประเพณีการตานต๊อด  โดยมีผู้นำในการตานต๊อด อาจจะเป็นผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน พระภิกษุสงฆ์  หรือบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์ต้องการทำบุญโดยมีรายละเอียดและขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้
      จัดประชุมชาวบ้าน เพื่อปรึกษาหารือและสำรวจความคิดเห็นว่า บุคคลใดในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน สมควรได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน และนัดหมายเวลา พร้อมจุดนัดพบเพื่อรวมตัวกันไปทำพิธีตานต๊อด ณ บ้านของเพื่อนบ้านที่ต้องการจะช่วยเหลือการเตรียมงานเริ่มที่บ้านหรือศาลาวัด เพื่อรวบรวมสิ่งของให้ครบทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ  ข้าวสารอาหารแห้ง  ปลากระป๋อง  พริกแห้ง  กะปิ  น้ำปลา เกลือหัวหอม หัวกระเทียม  น้ำมันพืช  ขนม นม  ฯลฯ  และถ้าเป็นของใช้ ได้แก่  สบู่ ยาสีฟัน  ผงซักฟอก  ยาสระผม  มีด พร้า ขวาน  จอบ  เสียม  หม้อข้าว  หม้อแกง  ถ้วย ชาม หม้อน้ำ  หม้อนึ่งข้าว  เสื่อสาด หมอน มุ้ง  รองเท้า  เสื้อผ้า  ผ้าขาวม้า  ผ้าเช็ดตัว  ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธาจะทำบุญ นำสิ่งของทั้งหมดมาแต่งดา และอาจมีต้นเงินเพื่อนำเงินที่ชาวบ้านทำบุญมาเสียบไว้ที่ต้นเงิน จัดทำกันแบบเงียบ ๆ และเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองโดยรู้กันเฉพาะกลุ่มที่จะทำบุญเท่านั้น ใครรู้ก็มาช่วยกัน


 

      การตานต๊อด  จะทำในเวลากลางคืน เวลาประมาณ  ๔ - ๕ ทุ่ม  เมื่อชาวบ้านมารวมตัวกันนัดพบหรือจุดที่เตรียมของแล้ว  อาจนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี หรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหนาน” จะเป็นผู้ทำพิธีสวดและพรมน้ำมนต์สิ่งของทั้งหมดที่จะตานต๊อด  เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วจึงช่วยกันถือของที่จะตานต๊อดพากันเดินไปยังบ้านหรือกุฏิอย่างเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงดังแล้วนำเอาของทั้งหมดไปวางไว้บริเวณหน้าบ้าน เช่น  หัวกระไดบ้าน หรือหน้ากุฏิ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จุดเทียน ธูปบูชา ตั้งจิตภาวนา เอาบุญเสร็จแล้ว จึงจุดประทัดชนิดต่าง ๆ ที่มีเสียงดัง เพื่อให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ส่วนคณะศรัทธาเจ้าภาพที่มากันทุกคน ก็พากันหลบซ่อนหมดไม่ให้เห็นตัว คอยแอบดูว่าผู้รับจะออกมารับด้วยวิธีใด เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูออกมาจะเห็นเทียนจุดอยู่หลายเล่มใกล้ ๆ กับสิ่งของที่นำไปให้ก็จะทราบว่ามีคนเอาของมาวางไว้ให้ ถ้าคนเคยบวชเรียนมาแล้วก็จะกล่าวว่า “อิทังเป๋นะปะติถัง”“นี่เป็นของผีหรือของคน”แล้วเข้าไปจุดธูปไหว้พระในบ้าน ทำเช่นนี้ประมาณ ๓  ครั้ง จึงพูดว่า “เห็นทีจะเป็นของคนแน่แล้ว จะรับไว้แล้วนะ ขอให้รับพรด้วย”แล้วก็กล่าวคำให้ศีลให้พรคณะศรัทธาทั้งหมดที่หมอบอยู่ก็พากันยกมือไหว้รับพร เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจในผลบุญที่ได้ทำร่วมกัน

0 ความคิดเห็น: